Tuesday, December 16, 2014

Dhamma Practice in Ratchaburi 5-12 Dec.2014

หลายคนถามว่าได้อะไรจากการไปปฏิบัติธรรมหรือการไปฝึกเจริญสติ 1 สัปดาห์ ก่อนจะสมัครมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ดิฉันได้อ่านวิธีการเจริญสติ ตามหลักสูตรปฏิบัติธรรมที่เว็บไซต์ของวัดว่า "การเฝ้าดูธรรมชาติของกายและจิตตัวเองนั่นแหละคือหลักพุทธธรรม การดูเป็นมรรคหรือวิธีการ ความรู้แจ้งสิ้นสงสัยใจหลุดพ้นนี่คือผล"แม้จะอ่านหนังสือธรรมะมามาก ก็ไม่เข้าใจ ว่าทำอย่างไร ทำไปทำไม สิ่งที่ดิฉันได้รับทางemailก่อนเดินทางมาฝึกเจริญสติคือ ระเบียบปฏิบัติ นี้ แม้ไม่มีเวลาได้เตรียมอะไรมาก แต่ก็ปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ ไม่ใช้เครื่องประดับใดๆ ไม่ใช้มือถือ ไม่ใช้เครื่องสำอาง นอกจากชุดขาวปฏิบัติธรรมและของใช้เพื่อการดำรงชีพ 1 กระเป๋า ที่หนักหนาคือดิฉันไม่ได้อ่านกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำในแต่ละวัน ความสามารถในการสวดมนต์ก็น่าจะอยู่ระดับอนุบาล ส่วนการภาวนาหรือวิปัสสนาน่าจะอยู่ระดับประถมแม้ว่าเรื่องการทำบุญทำทานและการถือศีลนั้นจะอยู่ระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อมาลงทะเบียนที่ไร่บุษบาแล้ว น้องอ้อและน้องปอนด์ผู้มาส่งจึงมาช่วยกางเต็นท์ให้แล้วก็กลับ กทม. ปล่อยให้ดิฉันเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้จักใครเลย ณ ที่แห่งนี้ 7 วันเต็ม ที่ปิดวาจา ไม่ได้พูดกับใคร จนถึงวันสุดท้ายที่มีการประเมินผลโดยให้เล่าความรู้สึกและประสบการณ์ในการมาฝึกปฏิบัติครั้งนี้
กิจวัตรประจำวันเป็นดังนี้ 04.00 น. สวดมนต์ ทำวัตรเช้า 06.00 น. รับภัตตาหารเช้า 07.00 น. เข้าที่ปฏิบัติ 11.00 น. สัญญาณระฆัง (ออกจากที่ปฏิบัติ)รับภัตตาหารเพล 13.00 น. เข้าที่ปฏิบัติ 17.00 น. สัญญาณระฆัง (ออกจากที่ปฏิบัติ)สรีระกิจ 17.30 น. สัญญาณระฆัง (รวมกันที่ศาลา)เดินจงกรมหมู่ 18.00 น. รับน้ำปานะ 18.30 น. สวดมนต์ ทำวัตรเย็น 19.00 น. ธรรมบรรยาย/วิดีทัศน์ 21.00 น. จำวัด
สถานที่ฝึกปฏิบัติคือสถานที่เดินจงกรม ใต้ต้นมะม่วง สรุปว่าแต่ละวันจะต้องบำเพ็ญเพียรโดยการเดินจงกรม ใต้ต้นมะม่วงนั้นช่วงเช้า 3 ชั่วโมง ช่วงบ่ายอีก 4 ชั่วโมง สองวันแรกขาดิฉันแทบก้าวไม่ออก ปวดขามาก และสงสัยแต่ไม่ได้พูดกับใครว่าทำไมต้องเดินไปเดินมานานขนาดนี้หนอ เดินแล้วจะได้อะไรขึ้นมา แต่จำที่พระอาจารย์บอกว่าเดินระลึกรู้ ให้สติอยู่ที่เท้าที่ก้าวย่าง ไม่ต้องคิดอะไร หรือถ้าคิดก็ให้รู้ว่านั่นคือความคิด แต่ต้องมีสติระลึกรู้ตลอดเวลา พุทธภาวะคือรู้ ตื่น เบิกบาน จะเป็นกุญแจดอกสำคัญ ดิฉันพยายามอดทนและจำคำสอนของหลวงตาให้ฝ่าความง่วงและความเบื่อหน่ายไปให้ได้ด้วยสติ เมื่อเดินจงกรมนานๆจะเริ่มง่วง ท่านสอนให้ตัดความง่วงให้ได้ด้วยสติ ดิฉันเริ่มเข้าใจอาการนั้นในวันที่ 4 ของการฝึกปฏิบัติที่พอสติตัดความง่วงได้ จะโล่งโปร่งและขาที่เคยปวดกลับมามีเรี่ยวมีแรงอีกครั้งอย่างน่าประหลาดใจ
ในทุกเย็นหลังจากทำวัตรเย็นจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาโดยหลวงตาสุริยา วัดป่าโสมพนัสทุกคืนและธรรมะของหลวงพ่อเทียนจากวีดีทัศน์ ความที่ดิฉันไม่เคยรู้จักแนวปฏิบัติสายหลวงพ่อเทียนมาก่อน การฟังธรรมบรรยายจึงช่วยทำให้เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนามากขึ้นและนำไปใช้ในการฝึกปฏิบัติในแต่ละวัน การเจริญสติทั้ง 7 วันนี้จึงเน้นการฝึกปฏิบัติโดยมีพระพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ มารู้ในระหว่างการฝึกปฏิบัติว่าท่านสอนให้เข้าใจและรับรู้ด้วยตนเองในอินทรีย์ 5 คือ ต้องมี 1. ศรัทธา ความตั้งใจ ในที่นี้คือศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 2. วิริยะ ความขยัน ในที่นี้คือความอดทน และความต่อเนื่อง จิตที่มีสติได้นั้นจึงต้องมีทั้งศรัทธาและวิริยะ 3. สติ ความรู้สึกตัว ความระลึกรู้ คือการรู้แยกความคิด ออกจากตัวรู้หรือความรู้สึกตัวที่อยู่กับปัจจุบัน รู้ทั้งการก้าวด้วยเท้า หรือรู้ด้วยมือที่สร้างจังหวะให้มีสติ 4. สมาธิ ความตั้งมั่นของจิต ไม่หวั่นไหวต่อการกระทบสัมผัส เมื่อจิตมีสติที่แข็งแรง จึงจะมีสมาธิมากพอให้เกิด ปิติ ที่กายสามารถรับรู้ได้ 5. ปัญญา ความรู้เห็นตามจริง ความเข้าใจในสังขารที่ไม่เที่ยง ปัญญาจะเกิดเมื่อศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และสังขาร ชัดเจน การฝึกสติในวันที่ 6 ทำให้พอเข้าใจความรู้สึกตัวและความคิดว่าเป็นคนละส่วนกัน คนเรามักจะทุกข์เพราะความคิดและอารมณ์ของตัวเอง ถ้าแยกส่วนออกจากสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันได้ อะไรจะเกิดก็ไม่ทุกข์ สติเริ่มแข็งแรงขึ้นในเช้าวันที่ 7 ของการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงเข้าใจในปิตินั้น เมื่อจิตมีสมาธิมากขึ้น แล้วก็ถึงเวลาเตรียมตัวกลับในวันต่อมา
กับคำถามที่ว่า 7 วันของการฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหวที่สวนธรรมบุษบา แล้วได้อะไรนั้น ขึ้นอยู่กับภาวะจิตและสมาธิของแต่ละคน ดิฉันไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะมาด้วยความอยากรู้และอยากเข้าใจ จึงพร้อมเรียนรู้และทำตามที่คนอื่นทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวในชามใบใหญ่ 1 ใบ การเข้าแถวล้างชามของเราเอง การเข้าแถวอาบน้ำ รอเข้าห้องน้ำ การอยู่กับตัวเองโดยพยายามไม่คิดอะไรนอกจากการกำหนดรู้ 7 วัน ที่เหนื่อยมากๆ ให้อะไรมากมาย เกินความคาดหวัง และเชื่อว่าเหล่านี้คือสิ่งที่ดิฉันได้รับจากการมาฝึกเจิญสติในครั้งนี้ 1 ลดอัตตา ความเป็นตัวตน ความยึดมั่นถือมั่น 2 ซาบซึ้งถึงคำว่าอดทน บำเพ็ญเพียร เพื่อการฝึกจิตให้แข็งแรง ท่านเรียกว่าจิตที่มีคุณภาพ ไม่ทุกข์กับความคิดฟุ้งซ่าน 3 เข้าใจถึงการอยู่กับธรรมชาติ โดยจิตไม่ปรุงแต่ง เข้าใจโลกความจริงกับโลกสมมุติ 4 เข้าใจความเป็นอนัตตา ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง มากยิ่งขึ้น 5 ฝึกการปล่อยวาง ลดความโลภ โกรธ หลง ในรูป รส กลิ่น เสียง เช่นกลิ่นหอมของกาแฟหายไป ทานก็ได้ ไม่ทานก็ได้ ความรู้ใหม่สำหรับดิฉันในครั้งนี้คือ ธรรมะคือธรรมชาติ พุทธธรรมนั้นเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยธรรมชาติ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เฉพาะอารมณ์ เฉพาะสถานที่ เฉพาะเวลา เฉพาะจิตขณะนั้นๆ ดังนั้น คนทุกคนจึงสามารถฝึกปฏิบัติและเข้าถึงธรรมะด้วยตนเองได้ ด้วยจิตที่ว่าง ซึ่งจะมีประโยชน์มากเมื่อได้ฝึกตั้งแต่อายุยังน้อยเมื่อมีกำลังวังชาอยู่
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการมาฝึกปฏิบัติธรรมเป็นคอร์สที่สวนธรรมบุษบา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ดิฉันขอบันทึกความทรงจำดีๆนี้ไว้ในคืนที่นอนเต็นท์กลางสวนมะม่วงและส้มโอมองดูพระจันทร์เต็มดวงมา 7 วัน ในรวมภาพเหล่านี้ประสบการณ์การฝึกเจริญสติและจะฝึกปฏิบัติภาวนาวิปัสสนากรรมฐานต่อไปตามเวลาและโอกาส ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าทุกรูปที่เป็นพระพี่เลี้ยงในการฝึกปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ ขอบคุณเจ้าของไร่สวนธรรมบุษบาที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการปฏิบัติธรรมพร้อมบริการอาหารและเครื่องดื่มอย่างดีแก่ผู้มาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ประมาณ 80 คน ขอขอบคุณน้องอ้อ น้องปอนด์ที่มาช่วยกางเต็นท์และไปส่งยังสถานปฏิบัติธรรม จ.ราชบุรี ขอขอบคุณ ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ที่แนะนำให้ดิฉันรู้จักการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ขอบคุณ ผศ.ภาวิณี แสนชนม์ ผู้พาไปวัดป่าโสมพนัสในวันนั้น ขอขอบคุณและขอบพระคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่เป็นกำลังใจ ขอบคุณภาพสวยๆบางภาพจากเว็บไซต์วัดป่าโสมพนัส จ.สกลนคร การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องยากค่ะ ต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างเต็มกำลัง แต่ไม่ยากเกินกว่าผู้มีศรัทธาทุกคนจะเข้าถึงธรรม

Wednesday, November 12, 2014

ฟินแลนด์กับการก้าวเข้าสู่สังคมความรู้และนวัตกรรม

ฟินแลนด์กับการก้าวเข้าสู่สังคมความรู้และนวัตกรรม


ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลา 30 ปีในการก้าวเข้าสู่สังคมความรู้และนวัตกรรม โดยใช้ระบบรัฐสวัสดิการ การพัฒนาระบบการศึกษาที่เน้นการพัฒนาผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของผู้เรียน และระบบนวัตกรรมแห่งชาติในการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคม เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาระบบงานวิจัยและพัฒนา โดยให้ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยจำนวนมาก เพื่อใช้ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต การพัฒนาด้านอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และการส่งออกที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญาของคนในประเทศ จนทำให้ประเทศฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารนิวสวีคให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในปี พ.. 2553 จากการจัดอันดับของ 100 ประเทศ (http://www.newsweek.com/best-countries-world-71817)โดยการเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ในโมเดลฟินนิชตามโปรแกรมสังคมสารสนเทศ (Information Society Program) เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา หลังจากนั้นจึงพัฒนาเนื้อหาสารสนเทศสำหรับการเรียน (Content production) การพัฒนาการสอนครู (teacher training) และการพัฒนาการใช้สารสนเทศของผู้ใช้บนระบบเครือข่าย

นอกจากนี้ประเทศฟินแลนด์ได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมสารสนเทศ (Finnish model of the information society) ในปี พ.. 2538 และ ต่อมาในปี  .. 2541ได้พัฒนาแผนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้และความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (national innovation system) เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงเป็นอันดับต้นของโลก  โมเดลฟินแลนด์ได้แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของระบบรัฐสวัสดิการกับความสามารถทางแข่งขันทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือประชากรฟินแลนด์ให้ความสนใจและมุ่งมั่นในการปรับใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและการสื่อสารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามโมเดลฟินแลนด์

จุดเด่นของการพัฒนาโครงการวิจัยในฟินแลนด์คือ การเน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่ การเผยแพร่ผลงานวิจัย การมีระบบประเมินผลที่ดี มีข้อมูลเชิงสถิติเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และการเชื่อมโยงงานวิจัยจากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยโครงการวิจัยขนาดใหญ่จะมีโครงการวิจัยขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกัน แต่ละคณะในมหาวิทยาลัยจะมีผู้อำนวยการวิจัยที่เป็นผู้ประสานงานและกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานวิจัยร่วมระหว่างสาขา แต่ละงานวิจัยจะมีหัวหน้าโครงการและนักวิจัยอยู่ในทีม ซึ่งนักวิจัยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายงานวิจัยคนละเรื่องที่สัมพันธ์กันในกลุ่มวิจัย เรียกว่า research group จะเห็นว่าในแต่ละคณะจะมีตำแหน่งนักวิจัยจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนางานวิจัยโดยเฉพาะ ทำให้มีบทความวิจัยที่นำลงเผยแพร่ในวารสารที่มีการอ้างอิง(impact factor)ปีละประมาณ 8,000 บทความ และมีการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ใหม่เฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 รายการ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมคือความคิดใหม่หรือความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากสารสนเทศ ความรู้ ซึ่งมีทั้งสารสนเทศทั่วไป และสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ป้อนเข้าสู่อุปกรณ์รับข้อมูลโดยมีผู้รับและผู้ส่งข้อมูล คือสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการประมวลผลและสามารถแสดงผลออกมาตามคำสั่งที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับสมองของมนุษย์ การที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องป้อนข้อมูลที่เป็นสารสนเทศและความรู้เข้าสู่ระบบสมองเพื่อให้เกิดการประมวลผลในการสร้างความคิดใหม่หรือความรู้ใหม่ หากสารสนเทศเป็นปัจจัยนำเข้าของสังคมความรู้ นวัตกรรมก็เป็นเป้าหมายหรือผลลัพท์ของสังคมความรู้ ดังนั้นทุกประเทศจึงให้ความสำคัญกับการเป็นสังคมสารสนเทศและสังคมความรู้เช่นเดียวกับที่องค์การยูเนสโก ได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของสังคมสารสนเทศและความรู้ของประชาชน ไม่ให้เกิดช่องว่างทางสารสนเทศ (เช่นการมีห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ที่ดีในทุกชุมชน) และช่องว่างดิจิทัล (Digital divide) ส่วนสารสนเทศที่ป้อนเข้าสู่ระบบนวัตกรรมแห่งชาติส่วนใหญ่นั้นเป็นสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ (scientific information) ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา จึงจะเป็นสารสนเทศที่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์จึงควรจะเข้าถึงได้ง่ายอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะมีผลกระทบย้อนกลับสู่สังคม จึงกล่าวได้ว่าในสังคมสารสนเทศ สารสนเทศทางวิทยาศาสตร์เป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะ (public goods) ที่ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญอย่างมากทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ สถิติที่สำคัญของฟินแลนด์  การวิจัยในฟินแลนด์

การจัดอันดับสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล Digital economy ranking 2010

ปัจจัยที่เป็นเครื่องวัดอันดับเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย

1. Connectivity and technology infrastructure
2. Business environment
 
3. Social and cultural environment
4. Legal environment
 5. Government policy and vision
 6. Consumer and business adoption

Sunday, August 10, 2014

Visit University of Tampere, Finland

การมาทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกทุน คปก.ที่ฟินแลนด์ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2557 เป็นภารกิจสำค้ญอย่างหนึ่ง การได้มาชมความสวยงามของธรรมชาติ จึงมีเรื่องเล่าหลากหลายเรื่องราว







Visit National Taiwan Normal University

ภารกิจการเดินทางไปศึกษาดูงานในชุดวิชาสัมมนาดุษฎีบัณฑิตประสบการณ์วิชาชีพสารสนเทศศาสตร์ มสธ.ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ที่ประเทศไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าประทับใจและมีเรื่องเล่ามากมาย










Tuesday, January 7, 2014

Visit museums in Switzerland.

การเดินทางเพื่อชมศิลปวัฒนธรรม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศาสนสถาน เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ขอบคุณโอกาสดีๆและเพื่อนร่วมทางที่อดทนไปชมห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในสวิสเซอร์แลนด์ด้วยกัน ด้วยคำถามที่ว่าห้องสมุดอีกละ? พิพิธภัณฑ์ก็ได้ค่ะ